กิจกรรม/ภารกิจ

การศึกษาขั้นพื้นฐาน

1. วิธีการจัดการเรียนรู้

  การศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีวิธีการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายดังนี้                 

1)การเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนกำหนดแผนการเรียนรู้ของตนเองตามรายวิชาที่ลงทะเบียนเรียน โดยมีครูเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำในการการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง ภูมิปัญญา ผู้รู้ และสื่อต่าง ๆ

2)การเรียนรู้แบบพบกลุ่ม เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ที่กำหนดให้ผู้เรียนมาพบกันโดยมีครูเป็นผู้ดำเนินการให้เกิดกระบวนการกลุ่ม เพื่อให้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และหาข้อสรุปร่วมกัน

3)  การเรียนรู้แบบทางไกล เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้จากสื่อต่าง ๆ โดยที่ผู้เรียนและครูจะสื่อสารกันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนใหญ่ หรือถ้ามีความจำเป็นอาจพบกันเป็นครั้งคราว

4 ) การเรียนรู้แบบชั้นเรียน เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ที่สถานศึกษากำหนดรายวิชา เวลาเรียน และสถานที่ ที่ชัดเจน ซึ่งวิธีการจัดการเรียนรู้เหมาะสำหรับผู้เรียนที่มีเวลามาเข้าชั้นเรียน

5 ) การเรียนรู้ตามอัธยาศัย เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตามความต้องการ และความสนใจ จากสื่อเอกสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือจากการฝึกปฏิบัติตามแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ 

แล้วนำความรู้และประสบการณ์มาเทียบโอนเข้าสู่หลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

6 ) การเรียนรู้จากการทำโครงงาน เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนกำหนดเรื่องโดยสมัครใจ ตามความสนใจ ความต้องการ หรือสภาพปัญหา ที่จะนำไปสู่การศึกษาค้นคว้า ทดลอง ลงมือปฏิบัติจริง และมีการสรุปผลการดำเนินการตามโครงการ โดยมีครูเป็นผู้ให้คำปรึกษา แนะนำ อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ และกระตุ้นเสริมแรงให้เกิดการเรียนรู้

7 ) การเรียนรู้รูปแบบอื่น ๆ สถานศึกษาสามารถออกแบบวิธีการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบ อื่น ๆ ได้ตามความต้องการของผู้เรียน

          วิธีการจัดการเรียนรู้ดังกล่าวข้างต้น สถานศึกษาและผู้เรียนร่วมกันกำหนดวิธีเรียนโดยเลือกเรียนวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลายวิธีก็ได้ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของเนื้อหา และสอดคล้องกับวิถี ชีวิต และการทำงานของผู้เรียน โดยขณะเดียวกันสถานศึกษาสามารถจัดให้มีการสอนเสริมได้ทุกวิธีเรียน เพื่อเติมเต็มความรู้ให้บรรลุมาตรฐานการเรียนรู้

2.  การจัดกระบวนการเรียนรู้ 

       การจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนสู่ความเป็นคน “คิดเป็น” โดยเน้นพัฒนาทักษะการแสวงหาความรู้ ประยุกต์ใช้ความรู้ และสร้างองค์กรความรู้สำหรับตนเอง และชุมชน สังคม ซึ่งกำหนดการจัดกระบวนการเรียนรู้ กศน. หรือ ONIE MODEL ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่จัดขึ้นอย่างเป็นระบบตามปรัชญา “คิดเป็น” ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ดังนี้  

ขั้นที่ 1 กำหนดสภาพ ปัญหา ความต้องการในการเรียนรู้ (O: Orientation)
ขั้นที่ 2 แสวงหาข้อมูลและจัดการเรียนรู้ (N: New ways of learning)
ขั้นที่ 3 ปฏิบัติและนำไปประยุกต์ใช้ (I: Implementation)
ขั้นที่ 4 ประเมินผลการเรียนรู้ (E: Evaluation)

 ขั้นที่ 1  กำหนดสภาพ ปัญหา ความต้องการในการเรียนรู้  (O: Orientation)

เป็นการเรียนรู้จากสภาพ ปัญหา หรือความต้องการของผู้เรียน และชุมชน สังคม โดยให้เชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิม และสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตร

ขั้นตอนการเรียนรู้ 
1)  ครูและผู้เรียนร่วมกันกำหนดสภาพ ปัญหา ความต้องการในการเรียนรู้ ซึ่งอาจจะได้มาจากสถานการณ์ในขณะนั้น หรือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง หรือเป็นประเด็นที่กำลังขัดแย้ง และกำลังอยู่ในความสนใจของชุมชน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนกระตือรือร้นที่คิดจะหาทางออกของปัญหา หรือความต้องการนั้น ๆ
2)  ทำความเข้าใจกับสภาพ ปัญหา ความต้องการในสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ โดยดึงความรู้และประสบการณ์เดิมของผู้เรียน เน้นการมีส่วนร่วม มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สะท้อนความคิดและอภิปรายโดยให้เชื่อมโยงกับความรู้ใหม่
3)วางแผนการเรียนรู้ที่เหมาะสมโดยกิจกรรมการเรียนรู้ที่กำหนดสามารถมองเห็นแนวทางในการค้นพบความรู้หรือคำตอบได้ด้วยตนเอง         

ขั้นที่ 2  ขั้นแสวงหาข้อมูลและจัดการเรียนรู้ (N: New ways of learning)

        การแสวงหาข้อมูล และจัดการเรียนรู้ โดยศึกษา ค้นคว้าหาความรู้ และรวบรวมข้อมูลของตนเอง ข้อมูลของชุมชน สังคม และข้อมูลทางวิชาการ จากสื่อและแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายมีการระดมความคิดเห็น วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล และสรุปเป็นความรู้

ขั้นตอนการเรียนรู้  
1) ผู้เรียนแสวงหาความรู้ตามแผนการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ โดยเน้นการเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ กระบวนการกลุ่ม ศึกษาจากผู้รู้ /ภูมิปัญญาและวิธีอื่น ๆ ที่เหมาะสม
2) ครูและผู้เรียนร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสรุปความรู้เบื้องต้น โดยใช้คำถามปลายเปิดในการชวนคิด ชวนคุย เป็นเครื่องมือ ด้วยกระบวนการการระดมสมอง สะท้อนความคิดและอภิปราย
3) ผู้เรียนนำความรู้ที่ได้ไปตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อประเมินความเป็นไปได้โดยวิธีต่าง ๆ เช่น การทดลอง การทดสอบ การตรวจสอบกับผู้รู้

ขั้นที่ 3 การปฏิบัติแลละนำไปประยุกต์ใช้ ( I: Implementation)

       นำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติ และประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เหมาะสมกับวัฒนธรรมและสังคม

ขั้นตอนการเรียนรู้ 
ผู้เรียนปฏิบัติตามขั้นตอน โดยสังเกตปรากฏการณ์ จดบันทึก และสรุปผล เก็บรวบรวมไว้ในแฟ้มสะสมงาน ระหว่างดำเนินการต้องมีการตรวจสอบหาข้อบกพร่อง และรวบรวมไว้ในแฟ้มสะสมงาน

ขั้นที่ 4 การประเมินผลการเรียนรู้ (E: Evaluation)

         ประเมิน ทบทวน แก้ไขข้อบกพร่อง ผลจากการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้แล้วสรุปเป็นความรู้ใหม่ พร้อมกับเผยแพร่ผลงาน

         ขั้นตอนการเรียนรู้ ครู และผู้เรียนนำแฟ้มสะสมงาน และผลงานที่ได้จากกการปฏิบัติมาใช้เป็นสารสนเทศในการประเมินคุณภาพการเรียนรู้ 

1) ครูและผู้เรียนร่วมกันสร้างเกณฑ์การประเมินคุณภาพการเรียนรู้
2) ครู ผู้เรียนและผู้เกี่ยวข้องร่วมกันประเมิน พัฒนาการเรียนรู้ให้เป็นไปตามเกณฑ์คุณภาพการเรียนรู้

         การจัดกระบวนการเรียนรู้ ทั้ง 4 ขั้นตอนเป็นวงจรของกระบวนการเรียนรู้ ตามปรัชญาคิดเป็น ซึ่งสถานศึกษาสามารถปรับใช้ ขั้นตอนการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสมตามสภาพของรายวิชา หรือเงื่อนไขอื่น ๆ ตามความต้องการของผู้เรียน

3. สื่อการเรียนรู้

         ในการจัดการเรียนรู้เน้นให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง โดยการใช้สื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย ได้แก่  สื่อสิ่งพิมพ์  สื่ออิเล็กทรอนิกส์  สื่อบุคคล  ภูมิปัญญา  แหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น  ชุมชนและแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ ผู้เรียน ครู สามารถพัฒนาสื่อการเรียนรู้ขึ้นเองหรือนำสื่อต่าง ๆ ที่มีอยู่ใกล้ตัวและข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการเรียนรู้  โดยใช้วิจารณญาณในการเลือกใช้สื่อต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีคุณค่า  น่าสนใจ  ชวนคิด ชวนติดตาม เข้าใจง่าย เป็นการากระตุ้นให้ผู้เรียนรู้จักวิธีการแสวงหาความรู้  เกิดการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง  ลึกซึ้งและต่อเนื่องตลอดเวล

4. การเทียบโอน

         สถานศึกษาต้องจัดให้มีการเทียบโอนผลการเรียน  หรือเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ของผู้เรียน ให้เป็นส่วนหนึ่งของผลการเรียนตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2551 โดยสถานศึกษาต้องจัดทำระเบียบหรือแนวปฏิบัติการเทียบโอนให้สอดคล้องกับแนวทางการเทียบโอนที่สำนักงาน กศน.กำหนด

5.การวัดและประเมินผลการเรียน

        การวัดและประเมินผลการเรียน  เป็นกระบวนการที่ให้ได้มาซึ่งข้อมูลสารสนเทศที่แสดงถึงการพัฒนา  ความก้าวหน้า  ความสำเร็จ  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน และข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาและเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพ เกิดทักษะกระบวนการและค่านิยมที่พึงประสงค์ ซึ่งสถานศึกษาในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบการจัดการศึกษา  จะต้องจัดทำระเบียบและแนวปฏิบัติในการวัดและประเมินผลการเรียนของสถานศึกษา  เพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายถือปฏิบัติร่วมกันและเป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน
         1) การวัดและประเมินผลรายวิชา เป็นการประเมินผลการเรียนรายวิชา สถานศึกษาต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน เพื่อให้ทราบว่าผู้เรียนมีความก้าวหน้าทางด้านความรู้ ทักษะ กระบวนการ  คุณธรรม  และค่านิยมอันพึงประสงค์อันเป็นผลเนื่องมาจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพียงใด และต้องมีการประเมินผลรวมเพื่อทราบว่าผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนบรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้หรือไม่อย่างไร  ดังนั้นการวัดและประเมินผลจึงต้องใช้เครื่องมือและวิธีการที่หลากหลายให้สอดคล้องกับสาระและมาตรฐานการเรียนรู้และผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
     2 ) การประเมินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นการประเมินสิ่งที่ผู้เรียนปฏิบัติเพื่อการพัฒนาตนเอง  ครอบครัว ชุมชน สังคม โดยพิจารณาทั้งเวลาการเข้าร่วมกิจกรรม การปฏิบัติกิจกรรมและผลจากการปฏิบัติกิจกรรมของผู้เรียนตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
        3) การประเมินคุณธรรม เป็นการประเมินสิ่งที่ต้องการปลูกฝังในตัวผู้เรียน โดยประเมินจากกิจกรรมการเรียนรู้ทางด้านการพัฒนาตน การพัฒนางาน  การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข  การพัฒนาคุณภาพชีวิต  การเข้าร่วมกิจกรรม การเรียนรู้ในรายวิชาต่าง ๆ และกิจกรรมในลักษณะอื่น ๆ ที่สถานศึกษาจัดขึ้น เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน
        4) การประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ สถานศึกษาต้องจัดให้ผู้เรียนเข้ารับการประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ ในภาคเรียนสุดท้ายของทุกระดับการศึกษาในสาระการเรียนรู้ที่สำนักงาน กศน.กำหนด การประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติมีวัตถุประสงค์เพื่อทราบผลการเรียนของผู้เรียนสำหรับนำไปใช้ในการวางแผนปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษานอกระบบต่อไป การประเมินดังกล่าวไม่มีผลต่อการได้หรือตกของผู้เรียน

6. การจบหลักสูตร

         ผู้จบการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช 2551 ในแต่ละระดับการศึกษาต้องผ่านเกณฑ์การจบหลักสูตร ดังนี้
        1) ผ่านการประเมินและได้รับผลการตัดสินการเรียนตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนดทั้ง 5 สาระการเรียนรู้ และได้ตามจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดตามโครงสร้างหลักสูตร
         2) ผ่านกระบวนการประเมินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตไม่น้อยกว่า 200 ชั่วโมง
         3) ผ่านกระบวนการประเมินคุณธรรม
         4) เข้ารับการประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ(N-NET)

7.เอกสารหลักฐานการศึกษา

     เอกสารหลักฐานการศึกษาให้เป็นไปตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด  สถานศึกษาทุกแห่งต้องใช้เอกสารหลักฐานการศึกษาเหมือนกัน  เพื่อประโยชน์ในการสื่อความเข้าใจที่ตรงกันและการส่งต่อได้แก่

1) ระเบียนแสดงผลการเรียน
2) หลักฐานแสดงวุฒิการศึกษา(ประกาศนียบัตร)
3) แบบรายงานผู้สำเร็จการศึกษ

การศึกษาต่อเนื่อง

การจัดการศึกษาต่อเนื่อง  มีการจัดกิจกรรม/โครงการ/หลักสูตรการศึกษานอกระบบ

   ในรูปแบบที่หลากหลาย ดังนี้

               1)  การศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ   เป็นการจัดการศึกษาที่เน้นความรู้และทักษะอาชีพให้สอดคล้องกับสภาพของแต่ละท้องถิ่น  ให้ผู้เรียนมีทักษะความชำนาญการเฉพาะเรื่องสามารถเพิ่มผลผลิต และหรือลดต้นทุนการผลิต  มีความรู้และทักษะในการจัดการระบบบัญชีการตลาด  และการบริหารจัดการอย่างครบวงจร  สามารถประกอบอาชีพสมัยใหม่ เป็นผู้ประกอบการเอง หรือรวมกลุ่มกันประกอบอาชีพก็ได้  และรู้จักนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น  การทำอาหาร  การทำขนมไทย  การนวดแผนไทย  การจัดดอกไม้สด  การเพาะเห็ดฟาง  การประดิษฐ์ของชำร่วย  การตัดเสื้อผ้าสตรี  การจัดสวนหย่อม งานช่างไม้  งานช่างไฟฟ้า  งานช่างก่อสร้าง  คอมพิวเตอร์เพื่อการประกอบอาชีพ ฯลฯ

 2)  การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต   เป็นการจัดกระบสนการเรียนรู้ที่เกี่ยวกับชีวิตเสริมสร้างความรู้ความสามารถของบุคคล  กระตุ้นให้เกิดวิธีคิด  เห็นคุณค่าของตนเอง  ซึ่งมีเนื้อหาของกิจกรรมสามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่อง  ได้แก่  ครอบครัวศึกษา  ดนตรี  กีฬายาเสพติด  ประชาธิปไตย  การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  สุขภาพอนามัยคุณธรรมและจริยธรรม  ภูมิปัญญาท้องถิ่น  โบราณคดี  โดยจัดกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆเช่น  การเข้าค่าย  การแข่งขัน  การศึกษาดูงาน ฯลฯ

3)  การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน   เป็นการจัดกิจกรรมเพื่อตอบสนองนโยบายและความต้องการของประชาชนในการพัฒนาสังคมและชุมชน  บูรณาการเนื้อหาต่าง ๆ  ให้ความรู้และฝึกทักษะตามความต้องการของชุมชนโดยใช้ชุมชนเป็นฐานในการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้  เน้นการจัดเวทีชาวบ้าน  การจัดกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนการจัดการความรู้ในชุมชน  การพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ของประชาชนในชุมชน

 4)  หลักสูตรระยะสั้น   เน้นการจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาความยากจนและกระจายรายได้ให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ โดยใช้กระบวนการ กศน. ร่วมกับภาคีเครือข่าย สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่คนในชุมชน ให้สามารถพัฒนาตนเองสู่ความเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน

5)  การศึกษาตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง   เป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้กับประชาชนในชุมชน โดยให้สถานศึกษาเป็นศูนย์กลางแหล่งเรียนรู้ในชุมชน เป็นศูนย์สาธิตและทดลองด้านการศึกษาอาชีพ และสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชีวิตพอเพียง เพื่อพัฒนาแนวการจัดกระบวนการเรียนรุ้ให้ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน  ส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายมีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิต ตลอดจนพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น

การศึกษาตามอัธยาศัย

ความหมายของการศึกษาตามอัธยาศัย

ในพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2551 ได้ให้คำจำกัดความของการศึกษาตามอัธยาศัย ไว้ว่า “การศึกษาตามอัธยาศัย” หมายความว่า กิจกรรมการเรียนรู้ในวิถีชีวิตประจำวันของบุคคลซึ่งบุคคลสามารถเลือกที่จะเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ตามความสนใจ ความต้องการ โอกาส ความพร้อม และศักยภาพในการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับ พุทธศักราช 2542 มาตรา 15 ได้นิยามการศึกษาตามอัธยาศัย ไว้ว่า “การศึกษาตามอัธยาศัย” เป็นการศึกษาที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อมและโอกาส โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม สื่อ หรือแหล่งความรู้อื่นๆ

รูปแบบการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย
การจัดการศึกษาตามอัธยาศัยไม่มีรูปแบบการศึกษา หรือการเรียนรู้ที่ตายตัว ไม่มีหลักสูตรเป็นตัวกำหนดกรอบกิจกรรม หรือขอบข่ายสาระการเรียนรู้ การเรียนรู้ขึ้นอยู่กับความต้องการ และแรงจูงใจใฝ่รู้ของแต่ละบุคคล อย่างไรก็ดี เราสามารถจัดกิจกรรม เพื่อเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตามอัธยาศัยได้ ดังนี้

  1. จัดกิจกรรมในแหล่งการเรียนรู้ประเภทต่างๆ เช่นห้องสมุดประชาชน การเรียนรู้ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ พิพิธภัณฑ์ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้จากภูมิปัญญาชาวบ้าน การจัดกลุ่มเสวนา หรือการอภิปราย กิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรม กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน การเผยแพร่ข่าวสารข้อมูล และความรู้ต่างๆ ฯลฯ
  2. ส่งเสริมสนับสนุน และพัฒนาการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย ได้แก่ สนับสนุนสื่อแก่หน่วยงานและแหล่งความรู้ต่างๆ
  3. ส่งเสริมให้หน่วยงานเครือข่ายจัดการศึกษาตามอัธยาศัย เช่น ห้องสมุดในสถานที่ราชการ สถานประกอบการ ฯลฯ
  4. ส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนากลุ่มต่างๆ ตามความต้องการ และความสนใจ เช่น กลุ่มดนตรี กลุ่มสิ่งแวดล้อม พัฒนาชุมชน ฯลฯ

หลักการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย
• จัดให้สนองกลุ่มเป้าหมาย ทุกเพศและวัย ตามความสนใจ และความต้องการ
• จัดให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต
• จัดโดยวิธีหลากหลายโดยใช้สื่อต่างๆ
• จัดให้ยืดหยุ่น โดยไม่ยึดรูปแบบใดๆ
• จัดให้ทันต่อเหตุการณ์
• จัดได้ทุกกาลเทศะ
• จัดบรรยากาศ สถานการณ์ และสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต

สรุป

อาจกล่าวได้ว่า การศึกษาตามอัธยาศัย ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) ที่เติมเต็มความต้องการของมนุษย์ที่แสวงหา ต้องการเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ นอกเหนือการเรียนในระบบโรงเรียน โอกาสของการเรียนรู้ตามอัธยาศัยเกิดขึ้นได้ ในทุกเวลา ไม่จำกัดสถานที่ และเรียนรู้ได้จากสื่อต่างๆ (อาทิ รายการวิทยุ-โทรทัศน์กระจายเสียง ภาพยนตร์ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ CD-DVD แหล่งเรียนรู้ออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ต)