อาณาเขต ที่ตั้ง สถานศึกษา

อาณาเขต ที่ตั้ง สถานศึกษา

จัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอนาคู เมื่อวันที่  1 เมษายน 2539   ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยแยกออกจากอำเภอเขาวง  และยกฐานะเป็นอำเภอนาคู  เมื่อวันที่  8 กันยายน  2550 อำเภอนาคูตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดกาฬสินธุ์ บริเวณเทือกเขาภูพาน  อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์  ประมาณ  88  กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานคร  ประมาณ  580  กิโลเมตร

เนื้อที่

อำเภอนาคู มีพื้นที่ทั้งหมด  203.09  ตารางกิโลเมตร  หรือ  126,932.50 ไร่  คิดเป็นร้อยละ  4.50  ของเนื้อที่จังหวัด 

อาณาเขตติดต่อ

–   ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอภูพาน  อำเภอเต่างอย  จังหวัดสกลนคร

–   ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอห้วยผึ้ง  จังหวัดกาฬสินธุ์

–   ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ และอำเภอดงหลวงจังหวัดมุกดาหาร                                                     

–   ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอห้วยผึ้ง  จังหวัดกาฬสินธุ์

ลักษณะภูมิประเทศ

สภาพทั่วไปส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่มหุบเขาภูพานลักษณะเป็นแอ่งก้นกระทะมีลำน้ำไหลผ่าน   4  สาย  ได้แก่  ลำห้วยมะโน   ลำห้วยขาม   ลำห้วยยาง  และลำน้ำยัง   พื้นที่ดินส่วนใหญ่เป็นดินเหนียวปนทราย  มีภูเขาล้อมรอบ  ทั้ง  3 ด้าน  ซึ่งเป็นแนวแบ่งเขตระหว่างอำเภอ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง  และอยู่ห่างจากอำเภอเขาวง  10  กิโลเมตร

ลักษณะภูมิอากาศ

เป็นแบบมรสุมเมืองร้อน  มี  3 ฤดู  เนื่องจากที่ตั้งอำเภอมีลักษณะเป็นแอ่งก้นกระทะ มีภูเขาล้อมรอบ  อากาศจึงหนาวจัดในฤดูหนาว  ลมแรงบริเวณเชิงเขา  ฤดูร้อนอากาศค่อนข้างร้อนจัดและฤดูฝน  มีฝนตกชุกตลอดฤดู

ลักษณะทางภูมิอากาศเป็นแบบมรสุม สามฤดูคือ

– ฤดูร้อน   เริ่มตั้งแต่เดือน มีนาคม  –  เดือนพฤษภาคม   

– ฤดูฝน   เริ่มตั้งแต่เดือน มิถุนายน  –  เดือนกันยายน              

– ฤดูหนาว   เริ่มตั้งแต่เดือน ตุลาคม  –  เดือนกุมภาพันธ์                                   

การปกครอง

การปกครอง  แบ่งออกเป็น  5  ตำบล  55  หมู่บ้าน   เทศบาลตำบล  2 แห่งได้แก่   เทศบาลตำบลนาคู  และเทศบาลตำบลภูแล่นช้าง  มีองค์การบริหารส่วนตำบล  4   แห่ง  ได้แก่

  1. องค์การบริหารส่วนตำบลนาคู
  2.  องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อแก้ว
  3. องค์การบริหารส่วนตำบลโนนนาจาน                       
  4. องค์การบริหารส่วนตำบลสายนาวัง

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สภาพพื้นที่ป่าส่วนใหญ่เป็นป่าสงวน  มี 2 แห่ง  คือ                                       

1. ป่าดงหมู  (อ.เขาวง และ อ.นาคู)  พื้นที่  88,075 ไร่

2. ป่าดงห้วยฝา  (อ.ห้วยผึ้ง  และ อ.นาคู)  พื้นที่  110,468 ไร่

แหล่งน้ำสำคัญ

–  แหล่งน้ำธรรมชาติ  ส่วนใหญ่เกิดจากเทือกเขาภูพาน  ได้แก่  ลำห้วยมะโน  ลำห้วยยาง   ลำห้วยขาม  และลำน้ำยัง

–    อ่างเก็บน้ำ   มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง  1  แห่ง  คือ  อ่างเก็บน้ำห้วยมะโน  ความจุ  5,813,000ลูกบาศก์เมตร พื้นที่ชลประทาน  3,018 ไร่ พื้นที่ได้รับประโยชน์  750  ไร่ จำนวน 180  ครอบครัว

การคมนาคม

– การคมนาคมติดต่อระหว่างอำเภอและจังหวัด รวมทั้งการคมนาคมภายในตำบลและหมู่บ้าน  รายละเอียดดังนี้

  1. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข   2101  ถนนนาคู – ห้วยผึ้ง   ระยะทาง  20  กิโลเมตร                                                   
  2. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข   2291 ถนนนาคู – สร้างค้อ ระยะทาง  18   กิโลเมตร                                                  
  3. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข   2291  ถนนนาคู – เขาวง     ระยะทาง  10    กิโลเมตร                                             
  4. ทางหลวงชนบท  สายนาคู – บ้านชาด – บ่อแก้ว           ระยะทาง  11   กิโลเมตร                                                
  5. ทางหลวงชนบท (รพช.)  หมายเลข  12038  สายบ้านวังเวียง – เขาวง (กุดสิมคุ้มเก่า) ระยะทาง  6  กิโลเมตร                                                                                                                           
  6. ทางหลวงชนบท (รพช.)  หมายเลข  ๓๑๑๔ และ ๓๐๗๔   สายบ้านภูแล่นช้าง – เขาวง ระยะทาง  10  กิโลเมตร               
  7. – สำหรับเส้นทางเชื่อมระหว่างตำบลและหมู่บ้าน  เป็นถนนลูกรัง

สาธารณูปโภค

 ไฟฟ้า   การไฟฟ้าภูมิภาค  ดำเนินการจ่ายไฟฟ้าได้  55 หมู่บ้าน  คิดเป็นร้อยละ  100

ประปา   ประปาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น    จำนวน  57 แห่ง  ได้แก่

  • เทศบาลตำบลนาคู จำนวน  1  แห่ง
  • เทศบาลตำบลภูแล่นช้าง จำนวน  11 แห่ง

องค์การบริหารส่วนตำบลนาคู    จำนวน  6 แห่ง                                 

องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อแก้ว    จำนวน  14   แห่ง                                                 

องค์การบริหารส่วนตำบลสายนาวัง  จำนวน  1  แห่ง                                                 

องค์การบริหารส่วนตำบลโนนนาจาน  จำนวน  24  แห่ง

ไปรษณีย์  จำนวน      1     แห่ง                                                                                          

โรงพยาบาลอำเภอนาคู   จำนวน  1  แห่ง

สภาพเศรษฐกิจ

ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม  การทำนา  เลี้ยงสัตว์  การทำไร่มันสำปะหลัง  ไร่อ้อย  และรับจ้างทั่วไป

การเกษตร

–  พื้นที่การเกษตร  รวมทั้งอำเภอ  55,625 ไร่  คิดเป็นร้อยละ  2  ของพื้นที่เกษตรทั้งจังหวัด   เป็นพื้นที่นา  51,441 ไร่   คิดเป็นร้อยละ  78  ของพื้นที่เกษตรทั้งอำเภอ

–  พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ   ได้แก่ 

–  ข้าว  มีพื้นที่เพาะปลูก  51,441  ไร่                                                     

–  มันสำปะหลัง  920  ไร่                                                                                                           

–   อ้อย    167  ไร่

–   การเลี้ยงปศุสัตว์ที่สำคัญ   ได้แก่  โคเนื้อ  กระบือ  สุกร  ไก่พื้นเมือง

อุตสาหกรรม

– อำเภอนาคู    มีโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตในการดำเนินการ และประกอบการอยู่

1  แห่ง    คือ    โรงงานแป้งมันตระกูลเล็ก

การธนาคาร

–  มีธนาคาร จำนวน  1  แห่ง  ได้แก่  ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร                                             

–  มีตู้  ATM  จำนวน  3  แห่ง  ได้แก่  ธนาคารกรุงไทย  ธนาคารออมสิน  ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

การศึกษา

–  มีสถานศึกษา  จำนวน  26  แห่ง   ห้องเรียน  จำนวน  253  ห้อง แบ่งเป็น ระดับมัธยมศึกษา 2  แห่ง  

ระดับประถมศึกษา  24  แห่ง                                                 

–  มีครู  จำนวน  311   คน   มีนักเรียน  5,083 คน  มีสัดส่วนครู : นักเรียนเท่ากับ  1:16.35 

และสัดส่วน จำนวนห้อง :  นักเรียน  เท่ากับ  1 :20

สาธารณสุข

–  สถานบริการสาธารณสุข   ประกอบด้วย  โรงพยาบาล 1 แห่ง สถานีอนามัย  7  แห่ง  และ คลินิก 3 แห่ง                                      

–  บุคลากรทางการแพทย์   ประกอบด้วย  แพทย์  –  คน  ทันตสาธารณสุข   1 คน พยาบาล  6  คน  เจ้าหน้าที่สาธารณสุข  21  คน

–  โรคที่พบมากในเขตอำเภอนาคู 3 อันดับแรก  ได้แก่  (1) โรคอุจจาระร่วง (2) โรคอาหารเป็นพิษ (3) โรคบิด

ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ชาวนาคูส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มภูไท นับถือศาสนาพุทธ มีความเชื่อเรื่องฮีตสิบสองคองสิบสี่ เคารพนับถือบรรพบุรุษ และรักพวกพ้อง

สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ

                    รอยเท้าไดโนเสาร์ เป็นรอยเท้าของไดโนเสาร์พันธุ์กินเนื้อยุคดึกดำบรรพ์  บริเวณห้วยเครือจาน  หุบเขาภูแฝกมี  3  นิ้ว  จำนวน  3 ตัว  ปรากฏเป็นรอยลึกจากลานหินลำห้วยเครือจานเบื้องล่าง  ผู้เชี่ยวชาญยืนยันเป็นพันธุ์  “คาร์โนซอร์”  มีอายุ  140  ล้านปี  สูงใหญ่กว่าพันธุ์ที่พบเห็นที่อำเภอภูเวียง  จังหวัดขอนแก่น  ค้นพบโดยเด็กหญิงกัลยามาศ  สิงห์นาครอง   และเด็กหญิงพัชรี  ไวแสน  เมื่อเดือนพฤศจิกายน  25.39  ที่บริเวณต้นลำน้ำห้วยผึ้ง   

                    น้ำตกผานางคอย   เป็นน้ำตกขนาดใหญ่  สายน้ำไหลลงตามซอกหิน ด้านล่างน้ำตกใกล้ลานจอดรถ  บรรยากาศร่มรื่น  ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านนางาม  หมู่ที่  3 ตำบลบ่อแก้ว

                   สนามบินเสรีไทย เป็นสนามบินลับที่ใช้เป็นฐานของขบวนการเสรีไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่  2  เป็นที่ขึ้นลงของเครื่องบินฝ่ายสัมพันธ์มิตร  เพื่อส่งอาวุธยุทธภัณฑ์  และครูฝึกเข้ามาฝึกยุทธวิธีให้แก่พลพรรคเสรีไทย  สนามบินมีเนื้อที่ทั้งสิ้น  5.10 ไร่  2 งาน  25  ตารางวา  อยู่ติดกับที่ว่าการอำเภอนาคู  จังหวัดกาฬสินธุ์

                    แหล่งสลักหิน  ศูนย์พัฒนาฝีมือแกะสลักหินบ้านนากระเดา เป็นศูนย์แกะสลักหินหมู่ที่ 6 ตำบลสายนาวังการแกะสลักหินเป็นงานฝีมือที่ประณีต  สวยงาม  มีคุณค่าทางวัฒนธรรม  โดยนำหินทราย  ที่มีอยู่ทั่วไปในท้องถิ่นมาแกะสลักเป็นรูปเหมือนต่าง  ๆ  เช่น  ลูกนิมิต  รูปสัตว์  พระพุทธรูป  ถือว่าเป็นงานฝีมือที่อยู่คู่วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของท้องถิ่นที่สอดคล้องกับธรรมชาติเป็นอย่างดี

                   น้ำตกคำเตย   ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาภูแฝก  ในเขตพื้นที่วนอุทยานภูแฝกห่างจากถนนหลวงสายนาคู – ห้วยผึ้ง 3  กิโลเมตร  เป็นต้นลำน้ำลำห้วยที่ไหลประจบกับลำน้ำลำพะยัง

                   พระองค์ดำ   ตั้งอยู่วัดบ้านนาขาม  หมู่ที่  8  ตำบลโนนนาจาน  อำเภอนาคู  จังหวัดกาฬสินธุ์  ห่างจากที่ว่าการอำเภอนาคู ประมาณ  9  กิโลเมตร ลักษณะพระองค์ดำเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริด มีประวัติการสร้างมานาน ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างเมื่อประมาณ  500  กว่าปี  และต่อมาเมื่อประมาณ  100 ปีเศษ  พระยาชัยสุนทรเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ในขณะนั้น  ได้รับอัญเชิญพระองค์ดำไปประดิษฐ์สถาน  ณ  วัดกลางกาฬสินธุ์  อำเภอเมือง  จังหวัดกาฬสินธุ์  และได้สร้างพระองค์ดำองค์จำลองอัญเชิญมาประดิษฐ์สถานไว้ที่วัดบ้านนาขามจนถึงปัจจุบัน  ภายในบริเวณวัดยังมีเจดีย์โบราณและหินศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนในพื้นที่เคารพนับถือเสี่ยงทาย